โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ในคนนิยมเรียก โรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) ส่วนในภาษาอีสานเรียก โรคหมาว้อ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าและยังติดต่อมาสู่มนุษย์ พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุดสู่มนุษย์ และสัตว์อื่น ๆ คือ สุนัข รองลงมาคือแมว

สาเหตุ

เกิดจาก Rabies virus ซึ่งเป็น RNA virus รูปร่างคล้ายกระสุนปืน

ช่องทางการติดต่อ

การติดเชื้อที่สำคัญที่สุดคือการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เมื่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกายโดยการถูกกัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าแผลรอยขีดข่วน เยื่อบุตา จมูก ปาก เชื้อจะยังคงอยู่บริเวณนั้นระยะหนึ่ง โดยเพิ่มจำนวนในกล้ามเนื้อ ก่อนจะเดินทางผ่านเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลาย ไขสันหลัง และเข้าสู่สมอง มีการแบ่งตัวในสมอง พร้อมทำลายเซลล์สมอง และปล่อยเชื้อกลับสู่ระบบขับถ่ายต่าง ๆ เช่น ต่อมน้ำลาย น้ำปัสสาวะ น้ำตา ตามแขนงประสาทต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการ บางรายเกิดอาการช้านานเกิน 1 ปี บางรายเกิดอาการเร็วเพียง 4 วันเท่านั้น แต่โดยเฉลี่ย 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
1. จำนวนเชื้อที่เข้าไป
2. ตำแหน่งที่เชื้อเข้าไป ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อก็จะเดินทางไปถึงสมองได้เร็ว
3. อายุคนที่ถูกกัด เด็กและคนชราจะมีความต้านทานของโรคต่ำกว่าคนหนุ่มสาว
4. ความรุนแรงของเชื้อ เชื้อจากสัตว์ป่าอันตรายกว่าสัตว์เลี้ยง สุนัขและแมวที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนแสดงอาการ เพราะ เชื้อจะออกมาในน้ำลายเป็นระยะ ๆ ประมาณ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการ

การป้องกัน

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่สำคัญที่สุดคือ การเสริมภูมิคุ้มกันในสุนัขซึ่งเป็นสัตว์นำโรคหลัก คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสุนัข และระวังอย่าให้สุนัขหรือแมวกัด เพราะการติดเชื้อส่วนใหญ่จะมาจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคอยู่แล้ว รวมทั้งการควบคุมจำนวนสุนัข ซึ่งการป้องกันโรคสามารถทำได้ดังนี้
1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัขและแมว
2. ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป อย่าปล่อยให้เด็กเล็กอยู่กับสุนัขตามลำพัง และสอนให้เด็กรู้จักระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้สุนัข อย่ารังแก อย่าแกล้ง อย่าทำให้สุนัขตกใจ สำหรับผู้เลี้ยงสุนัขต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ให้สุนัขไปกัดคน และไม่ก่อความเดือดร้อนหรืออันตรายแก่ผู้อื่น
3. ควบคุมจำนวนสุนัขไม่ให้เพิ่มขึ้น
4. ผู้ที่ถูกสัตว์ที่เสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน ต้องรีบล้างแผลใส่ยา กักสุนัขไว้ 10 วัน และไปหาหมอโดยเร็วที่สุด สุนัขที่กัดคนหรือสัตว์อื่นแล้วตายลงภายใน 10 วัน ต้องส่งหัวไปตรวจที่ห้องปฏิบัติหรือติดต่อปศุสัตว์ในพื้นที่
5. ผู้ที่เสี่ยงหรือทำงานที่เสี่ยงต่อการติดโรคนี้ เช่น ผู้ที่ดูแลสัตว์หรือสัมผัสสัตว์ เด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ ผู้ที่เพาะสัตว์เลี้ยงขาย ร้านขายสัตว์เลี้ยง บุรุษไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กำจัดสุนัขและแมวจรจัด เจ้าหน้าที่บ้านสงเคราะห์สัตว์พิการเร่ร่อนต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ แพทย์และพยาบาลที่พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าบ่อย ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้และเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด เป็นต้น ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure prophylaxis) ก่อนถูกกัด

BACK TO TOP